นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์การกีฬา โดยทีมนิสิตวิศวกรรมศาสตร์ ชมรมโรบอท
จากการที่ในปัจจุบันนี้มีการนำเครื่องมือและอุปกรณ์ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬามาใช้พัฒนาทักษะความสามารถด้านกีฬาและสุขภาพมากขึ้น แต่เครื่องมือเหล่านั้นส่วนใหญ่ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาแพง จุดนี้เองทำให้ทีม Performer นิสิตชมรมโรบอท จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้คิดค้นพัฒนาเครื่องมือวิทยาศาสตร์การกีฬาดังกล่าวขึ้น เพื่อให้คนไทยได้มีโอกาสใช้เครื่องมือที่มีราคาถูกลงแต่ประสิทธิภาพเท่าเทียมกับสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ
ผลงาน เครื่องทดสอบสมรรถภาพ 7 สถานี ที่ทีมนิสิตพัฒนาขึ้นคว้ารางวัลชนะเลิศในการประกวดโครงการนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา จัดโดยสำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อส่งเสริม สนับสนุน การประดิษฐ์คิดค้นทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา ในการสร้างเครื่องมือและอุปกรณ์ทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาสำหรับใช้ในประเทศให้มีศักยภาพเท่าเทียมต่างชาติ ลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2552
ทีม Performer ประกอบด้วยนิสิตจากหลายภาควิชาร่วมมือกันนำความรู้ความสามารถแต่ละอย่างมาบูรณาการ ส่วนที่ท้าทายและยากที่สุดในการสร้างเครื่องมือนี้ คือ การต้องค้นคว้าเพิ่มเติมรวมถึงสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญในเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การกีฬา และต้องนำความรู้เหล่านั้นมาใช้ร่วมกับความรู้ในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ด้วย เครื่องทดสอบสมรรถภาพ 7 สถานี ประกอบด้วย
- สถานีวิ่งระยะ 50 เมตร โดยในสถานี้จะมีการติดตั้งเซ็นเซอร์ 2 ชุด 4 ตัว โดยเซ็นเซอร์ชุดแรกจะติดตั้งที่จุดเริ่มต้น และอีกจุดติดตั้งที่จุด 50 เมตร สามารถปรับระดับได้
- สถานีวิ่งระยะ 1,000 เมตร จะมีเซ็นเซอร์ 1 ชุด 2 ตัว ตรงจุดเริ่มและจุดเข้าเส้นชัย
- สถานีกระโดดไกล จะมีเซ็นเซอร์วัดระยะทางติดอยู่ที่แผ่นยางสำหรับกระโดด
- สถานีวัดความอ่อนตัวของร่างกาย จะมีตัววัดระยะยืดหยุ่น มีหน้าจอแสดงผล และสามารถพับเก็บได้
- สถานีวิ่งเก็บของ จะมีแผงวงจรตรวจจับขณะผู้ใช้หยิบท่อนไม้ที่ฝังโลหะ
- สถานีดึงข้อ บริเวณคานที่ใช้ดึงข้อ สามารถปรับระดับได้ โดยมีเซ็นเซอร์ตรวจจับ 3 ชุด
- สถานีลุก-นั่ง 30 วินาที จะมีเบาะรองรับผู้ใช้ เพื่อลดการกระแทก สามารถพับเก็บได้ และมีเซ็นเซอร์ตรวจวัด 3 ชุด
ในการพัฒนาเครื่องมือ ได้เน้นถึงความปลอดภัยต่อผู้ใช้งานเป็นหลัก โดยแบ่งหน้าที่การพัฒนา ออกเป็น 4 ด้าน คือ
- ด้านกลไกการออกแบบ คือ ออกแบบอุปกรณ์ทดสอบให้ถูกกับสรีระร่างกาย
- ด้านอิเล็กทรอนิกส์ คือ การออกแบบวงจรและการจ่ายไฟ
- ด้านไมโครคอนโทรลเลอร์ คือ การประมวลผลกลางและการส่งข้อมูลการทดสอบผ่านระบบวิทยุไร้สาย (Wireless)
- ด้านฐานข้อมูล คือ การเขียนโปรแกรมประมวลผลร่วมกับผลสอบ โดยรับข้อมูลจากผู้ ใช้ทั้ง อายุ เพศ น้ำหนัก และส่วนสูง
โดยเครื่องที่ทางทีมฯ สร้างเสร็จโดยสมบูรณ์นั้น ใช้งบประมาณในการสร้าง จำนวน 50,000 บาท และมีประสิทธิภาพทัดเทียมกับสินค้านำเข้า ซึ่งมีราคาสูงถึง 3-4 แสนบาท
เครื่องมือที่พัฒนาขึ้นนี้ สามารถนำมาใช้ในการฝึกและทดสอบ ตลอดจนการวิเคราะห์ความสามารถในแต่ละทักษะของแต่ละชนิดกีฬา รวมทั้งการนำผลการทดสอบสมรรถภาพมาปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องของนักกีฬา และลดอาการบาดเจ็บจากการทดสอบสมรรถภาพ การวินิจฉัย หรือการประเมินผลของการบาดเจ็บ ตลอดจนการฟื้นฟูบำบัดร่างกายได้
ล่าสุด ผลงานเครื่องมือทดสอบสมรรถภาพ 7 สถานี กำลังอยู่ในขั้นตอนของการจดสิทธิบัตร และคาดว่าจะมีการนำไปใช้จริง ณ ศูนย์ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ม.เกษตร และ คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา ม.เกษตร กำแพงแสน
สมาชิกทีม Performer มีนิสิตจำนวน 10 คน รวมตัวกันจาก 3 ภาควิชา ประกอบด้วย นายพงษ์ศิริ เตี๋ยมนา หัวหน้าทีม จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล, นายวุฒิชัย นนทะโคตร จากภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ, นายภูษิต สุเสวนานนท์, นายปัญณะภาคย์ ธงวาส, นายประพัฒน์พล ทิพย์เนตรมงคล, นายอธิมาตร ติระนาถวิทยากุล, นายเมธา พูนพานิช, นายศรัณย์ สุวิทยพันธุ์, และ นายทศชัย อินดี นิสิตภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า รวมถึงมีนิสิตชั้นปีที่ 1 ที่ยังไม่ได้แยกสาขาวิชาหนึ่งคน คือ นายเพิ่มทรัพย์ สุขแสงจันทร์ โดยมี อ.ดร.ดุสิต ธนเพทาย และ อ.ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา