เป้าฝึกปราบเรือดำน้ำ : ยานใต้น้ำไร้คนขับ

ภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ (สวพ.ทร.) ประสบความสำเร็จในการออกแบบและสร้างเป้าฝึกปราบเรือดำน้ำหรือยานใต้น้ำไร้คนขับ เพื่อใช้ประโยชน์ในการฝึกนายทหารพนักงานโซนาร์ให้มีความชำนาญ สามารถพิสูจน์ทราบถึงเรือดำน้ำของข้าศึกได้ในเวลาอันรวดเร็ว ทดแทนการใช้เรือดำน้ำจริงและการนำเข้าจากต่างประเทศ

กองทัพเรือได้ปลดระว่างเรือดำน้ำประจำการจำนวน 4 ลำ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 อย่างไรก็ตามประเทศไทยไม่มีนโยบายจัดซื้อเรือดำน้ำทดแทนเนื่องจากการนำเข้าเรือดำน้ำจากต่างประเทศต้องใช้งบประมาณสูง จึงทำให้กองทัพเรือขาดแคลนเทคโนโลยีในการฝึกทหารเรือให้มีความชำนาญด้านการตรวจจับและปราบเรือดำน้ำของข้าศึกในเวลาอันรวดเร็ว

การสร้างยานใต้น้ำไร้คนขับเพื่อใช้งานเป็นเป้าฝึกให้ทหารบนเรือผิวน้ำค้นหาและปราบเรือดำน้ำข้าศึก จึงนับเป็นนวัตกรรมใหม่ที่นอกจากจะสามารถลดการนำเข้าจากต่างประเทศแล้ว ยังมีลักษณะและขีดความสามารถเหมือนเรือดำน้ำที่ใช้ในวงการทหาร แต่ไม่มีคนขับในเรือและมีขนาดเล็กกว่าเรือดำน้ำจริง โดยมียานสร้างสำเร็จแล้วจำนวน 3 ลำ ลำแรกชื่อไกรทอง ผ่านการทดสอบในทะเลแล้ว ส่วนอีก 2 ลำ ชื่อว่า สุดสาครและวิชุดา

โครงสร้างของยานใต้น้ำไร้คนขับ หรือ เป้าฝึกปรายเรือดำน้ำ (Mobile Target) ทำจากเหล็ก มีรูปร่างคล้ายตอร์ปิโดมีความยาว 3.10 เมตร กว้าง 0.45 เมตร น้ำหนัก 300 กิโลกรัม การดำเนินงานเริ่มต้นด้วยการสร้างสมการเคลื่อนที่ในแนวก้ม-เงย สร้างต้นแบบสามมิติในคอมพิวเตอร์ โดยวาดแบบที่ใช้ทำการสร้างเรือดำน้ำจริง พร้อมกับการชั่งน้ำหนักของเรือดำน้ำ เพื่อเปรียบเทียบและวิเคราะห์แรงลอยตัว แรงต้าน และนำตัวแปรต่างๆ มาจำลองภาพทางคณิตศาสตร์ เพื่อหาประสิทธิภาพของยานใต้น้ำและสร้างขึ้นได้เป็นผลสำเร็จ

รศ.ปองวิทย์ ศิริโพธิ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ หนึ่งในคณะทำงานกล่าวถึงหลักการทำงานของยานใต้น้ำ ว่า "ยานใต้น้ำไร้คนขับ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของเรือดำน้ำฝ่ายศัตรูที่จะซ่อนตัวอยู่ในทะเล ในปี 2543 ทางหน่วยวิจัยของภาควิชาฯ ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการการออกแบบและสร้างเป้าฝึกปราบเรือดำน้ำระยะที่ 1 ซึ่งในเวลานั้น เป้าฝึกจะมีการเคลื่อนที่ใต้น้ำแบบ Random มีมอเตอร์กระแสตรงใช้พลังงานจากแบตเตอรี่เป็นตัวขับเคลื่อน ขณะที่เรือผิวน้ำต้องค้นหาเรือดำน้ำให้พบว่าอยู่ตำแหน่งใด ยานใต้น้ำไร้คนขับได้ติดตั้งอุปกรณ์ไว้ภายใน สามารถอยู่ในน้ำได้นาน 4 ชั่วโมง แล่นสลับฟันปลาในแนวดิ่ง ด้วยความเร็ว 3 นอต ดำน้ำได้ลึกไม่เกิน 30 เมตร มีระบบเสียงใต้น้ำทำให้เกิดสัญญาณปรากฏบนหน้าจอโซนาร์ของเรือผิวน้ำ ในลักษณะเดียวกันกับที่เกิดจากการตรวจพบเรือดำน้ำจริง เมื่อส่งคลื่นเสียงไปกระทบยานใต้น้ำ"

สำหรับเป้าฝึกฯ ในปัจจุบันการใช้งานยานใต้น้ำไร้คนขับสามารถกำหนดรูปแบบของการเคลื่อนที่ใต้น้ำได้ถึง 10 รูปแบบ เช่น การหันเลี้ยว การกำหนดความเร็ว การปรับระดับความลึก ตัวยานมีเข็มทิศอิเล็กทรอนิกส์บอกทิศอัตโนมัติ และมีระบบป้องกันน้ำท่วมเช้าภายในตัวยาน เมื่อเลิกใช้งานจะส่งคลื่นวิทยุดาวเทียมติดต่อกับ เรือบนผิวน้ำเพื่อมารับเป้าฝึกฯ กลับมาใช้ใหม่ได้ สามารถอยู่ในน้ำได้นาน 4-8 ชั่วโมง ด้วยความเร็ว 3 นอต ดำน้ำได้ลึกไม่เกิน 30 เมตร ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ในการใช้ฝึกปราบเรือดำน้ำแล้ว ยังจะเป็นประโยชน์ต่อการสำรวจทางสมุทรศาสตร์อีกด้วย

และในเดือนกันยายน 2553 ที่จะถึงนี้ คณะผู้วิจัยจะได้ส่งมอบยานใต้น้ำไร้คนขับแก่กองเรือยุทธการ กองทัพเรือเพื่อใช้เป็นเป้าฝึกปราบเรือดำน้ำต่อไป


วิดีโอแสดงตัวอย่างการทำงานและทดสอบเป้าฝึกปราบเรือดำน้ำ (ภาษาอังกฤษ)

วิดีโอแนะนำเป้าฝึกปราบเรือดำน้ำ